เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น: ส่วนผสมที่ขาดหายไปในการปฏิรูปประเทศไทย


หลังจากที่ผมกลับมาเมืองไทยได้สองอาทิตย์เต็มๆ ผมกลับไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงอะไรเลย นอกจากเศรษฐกิจที่ดูซึมๆ แต่ชีวิตมนุษย์ทุกคนแถวนี้ ก็ยังดำเนินไปอย่างปกติ คนหาเช้ากินค่ำก็ยังทำงานหนักอย่างเดิม พนักงานออฟฟิศก็ยังต้องไปทำงานทุกวันเหมือนเดิม เพื่อนๆผมก็ยังกินสตาร์บักส์ และไปเที่ยวเอกมัย ทองหล่อกันแบบเดิม


จนผมเริ่มเกิดคำถามกับตัวเองว่า หรือคนไทยจะไม่ต้องการประชาธิปไตย คนที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลทหาร มีเพียงกลุ่มนักศึกษาที่สนใจเหตุบ้านการเมืองเท่านั้นหรือ? แล้วสลิ่มกับเสื้อแดงล่ะ หายไปไหนกันหมด นักการเมืองทั้งสองพรรคส่วนใหญ่ก็ล้วนกลับไปทำธุรกิจของตน เรียกว่า ช่วงนี้ปล่อยทหารเค้าทำก่อนไปก่อนละกัน

สิ่งที่เห็นตรงหน้า มันช่างต่างกับสามปีที่ผ่านมาที่ผมได้ไปร่ำเรียนอยู่สหรัฐอเมริกา ผมได้เรียนรู้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นวิชาความรู้ระดับโลกที่อยู่ในมหาวิทยาลัย แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือการที่ผมได้ไปอยู่ในประเทศที่เรียกได้ว่า เป็นต้นกำเนิดของประชาธิปไตยและดินแดนแห่งเสรีภาพ

ถึงแม้จะดูเหมือนว่าสหรัฐอเมริกาจะเป็นประเทศที่เจริญแล้ว แต่ก็มีปัญหาอยู่มาก ไม่ใช่ว่ามีประชาธิปไตยแล้วจะแก้ปัญหาได้ทั้งหมด ปัญหาที่เค้าเจอ ยังคงปรากฎตามหน้าหนังสือพิมพ์อยู่ทุกวัน เช่น ปัญหาของการเลือกปฎิบัติเพราะสีผิว (Race Discrimination) ปัญหาช่องว่างทางสังคมที่คนรวยกับคนจน (Social Disparity) ปัญหาความรุนแรงของตำรวจ (Police Brutality)








ภาพประกอบเรื่องPolice Brutalityที่นายเอริก การ์ดเนอร์ถูกวิสามัญฆาตกรรมโดยNYPD ข้อหาขายบุหรี่เถื่อน


ซึ่งทั้งหมดที่ผมกล่าวมานั้นล้วนเป็นประเด็นปัญหาสำคัญๆในศตวรรษที่21 ที่ประชาชนของเค้าร่วมกันดีเบทเพื่อหาทางออกของสังคม


คำถามที่สำคัญที่คนไทยบางกลุ่มอาจจะเรียนรู้ได้จากประเทศนี้คือ "แล้วตั้งแต่สหรัฐประกาศอิสรภาพจากประเทศอังกฤษตั้งแต่ปี 1776ล่ะ? ในช่วงศตวรรษที่ 18,19,20 ไม่มีปัญหากับประชาธิปไตยเลยเหรอ” คำตอบคือ มีครับ มีมากเสียด้วย ไอ้เรื่องความเป็นคนเท่ากันหรือไม่ ที่เมืองไทยถกเถียงกันอยู่ตามโลกออนไลน์ เค้าก็ผ่านมาแล้ว มันเริ่มตั้งแต่คำประกาศอิสรภาพ ประโยคที่สำคัญที่สุดที่ว่า “All men are created equal” ตั้งแต่เริ่มตั้งประเทศ ประโยคนี้ก็ไม่จริงไม่เสียแล้ว เพราะประชาชนชาวอเมริกันไม่เคยเท่ากันเลย ไม่ว่าจะเป็นการค้าทาสคนผิวดำจากอัฟริกาที่ค้ากันเป็นร้อยปีจนถึงปี 1865 การเลือกตั้งพึ่งจะมีครั้งแรกเมื่อปี 1868 กว่าจะให้ผู้หญิงมีสิทธิในการเลือกตั้ง ก็ตั้ง40ปีหลังจากคือ 1920 ซึ่งกว่าประโยคนี้จะเป็นจริงก็ปาเข้าไป ปี 1965 ที่สหรัฐยอมให้คนผิวดำมีสิทธิเลือกตั้งได้ (ถึงแม้ในปัจจุบันก็อาจมีประเด็นอยู่บ้าง สนใจลองเซิร์ช #blacklivesmatter ดูได้)





คำประกาศอิสรภาพ(Declaration of Independence)





ซึ่ง Timeline ของปัญหาที่สหรัฐเจอนั้นเรื่อยมาตั้งแต่ การประกาศอิสรภาพ(1776) นั้นมีตั้งแต่ สงครามกลางเมืองระหว่างรัฐเหนือกับรัฐใต้ (1861) การยอมให้Citizenshipกับชาวอินเดียนแดง (1921) วิกฤตเศรษฐกิจGreat depression (1930) การเรียกร้องสิทธิ์ของคนผิวดำ (1954-1968) สงครามเวียดนาม (1955-1975) สงครามต่อต้านการก่อการร้าย (2001) วิกฤตเศรษฐกิจSubprime (2008)


เราจะเห็นได้ว่า มันไม่มีหรอกครับ ไอ้คำว่า ปฎิรูปก่อนแล้วค่อยเลือกตั้ง หยุดพักประเทศไว้ก่อนให้ทหารเค้าปรับปรุงประเทศก่อนแล้วเราค่อยมาทะเลาะกันใหม่ เพราะว่าปัญหาใหม่ๆล้วนมีเกิดขึ้นตลอดเวลา (ไม่งั้นที่สหรัฐ สงสัยคงต้องหยุดพักประชาธิปไตยทุกทศวรรษ) สมมติเฉยๆ สมมติว่า ทหารสามารถสร้างกติกาและปฎิรูปประเทศเพื่อแก้ปัญหาประเทศไทยตอนนี้ได้ ถ้าอีกหนึ่งปี สามปี หรือสิบปี มีปัญหาที่ดูจะแก้ไม่ตกอีก เราจะต้องใช้บริการเหล่าทหารมืออาชีพอีกอย่างนั้นหรือ ผมเห็นว่าทหารอาชีพนั้นรบเก่ง ถ้ามีสงคราม เราก็ควรเรียกใช้เค้า แต่ไม่ใช่เพื่อปฎิรูปปัญหาสังคมในประเทศแน่นอน


ประชาธิปไตยของสหรัฐที่มีอายุประมาณ 200 กว่าปีเศษๆนี้ ก็ผ่านการล้มลุกคุกคลานมามาก การจะแก้ปัญหาต่างๆที่มันซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ หรือถ้าจะเรียกที่จะเรียกเท่ๆในวันนี้ว่าการปฎิรูปนั้น พวกเขาก็คงปฏิรูปประเทศมาจนนับครั้งไม่ถ้วน และทุกทีมีปัญหาขึ้นในสังคม จะต้องมีการแก้ปัญหากัน จะต้องมีการปฏิรูปกัน ก็ไม่ได้มีทางเลือกในการทำเท่าไรนัก และ ทางเลือกก็เหมือนจะมีอยู่ทางเดียวคือ ประชาธิปไตยเท่านั้นล่ะครับ


สิ่งที่ประชาธิปไตยให้ได้ และเผด็จการทหารให้ไม่ได้ จริงๆแล้วมีจุดที่สำคัญเพียงจุดเดียวคือ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (Freedom of Speech) ซึ่งเหตุผลเพียงเหตุผลเดียวที่เผด็จการไม่สามารถให้สิทธิ์นี้แก่ประชาชนได้ก็เนื่องจากเผด็จการทหารนั้นมักจะเป็นการตัดสินที่มาจากคนเพียงกลุ่มเดียวนั้น ซึ่งการตัดสินใจโดยคนเพียงกลุ่มเดียวนั้นยากที่จะถูกใจประชาชนทั้งประเทศ ประชาชนก็ต้องวิจารณ์เป็นของธรรมดา แต่เนื่องจากคำวิพากษ์วิจารณ์นั้นย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐบาล เผด็จการนั้นจึงไม่อาจรับคำวิจารณ์ของประชาชนได้ 

แต่ขณะเดียวกัน ในระบอบประชาธิปไตยนั้น การตัดสินใจนั้นทำผ่านตัวแทนของประชาชน ซึ่งการที่รัฐบาลจะรับรู้ได้ว่า นโยบายของตนนั้นดีหรือไม่ วาระที่จะปฏิรูปจะถูกใจประชาชนส่วนใหญ่หรือไม่นั้น ทำได้ง่ายที่สุดคือ การปล่อยให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบาย วาระที่ต้องการปฏิรูป หรือการบริหารงานของรัฐบาลนั้นๆ การแสดงความคิดเห็นเหล่านี้ในคนอเมริกาถือว่า เป็นหนึ่งในสิทธิที่สำคัญที่สุดที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ (ในส่วนของFirst Amendment) หากปราศจากเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น นโยบาย หรือสิ่งที่ประชาชนประสงค์ให้เกิด มันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย สิ่งต่างๆที่ผมเขียนมาในตอนแรกเกี่ยวกับสหรัฐนั้น ไม่ว่าจะเป็น สิทธิความเท่าเทียมกันระหว่างคนผิวสีกับผิวขาว หรือ การให้สิทธิการเลือกตั้งอย่างเท่าเทียมกันในสหรัฐนั้นจะไม่ทางเกิดขึ้น หากไม่มีสิทธิพื้นฐานที่สำคัญที่สุดคือสิทธิในการแสดงความคิดเห็น เรียกได้ว่า สิทธิต่างๆของประชาชนที่รัฐธรรมนูญรับรองนั้นถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของสิทธิในการแสดงความคิดเห็นทั้งสิ้น


หันกลับมาดูในประเทศไทย วันนี้เรากำลังจะปฏิรูปประเทศโดยไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การปฏิรูปประเทศที่เต็มไปด้วยการปิดกั้นการแสดงออกของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย มีการจับนักศึกษา การข่มขู่นักวิชาการ ไม่ว่าจะมองจากทางไหน ผมก็ไม่เห็นทางออก ถ้าส่วนผสมที่สำคัญที่สุดไม่ได้อยู่ในสูตรสำเร็จของยาวิเศษขวดนี้ ผมไม่เห็นทางที่ยาขวดนี้จะรักษาคนไข้ที่ป่วยหนักอย่างประเทศไทยได้แต่อย่างใดเลย

Comments

Popular posts from this blog

ล้อการเมืองของจุฬา หายไปไหน ผมมีเรื่องมาเล่าให้ฟังครับ

TrueMove H ไม่น้อยหน้า Facebook กรณีเคมบริดจ์อนาลิติกา ทำข้อมูลลูกค้ารั่ว 46,000 ราย

ทำไมแท็กซี่จึงปฎิเสธผู้โดยสาร (แล้วจะแก้ปัญหายังไงดีนะ)