Limited Government : แผนการ(บางข้อ)ของสุเทพที่จะจัดการระบอบทักษิณได้ชะงัด
(ongoing article by Chris Potranandana)
สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกปปส. ประกาศมาหลายเดือนแล้วว่า จะไม่หยุดม้อบจนกว่าจะกำจัด “ระบอบทักษิณ” ออกไปจากประเทศไทย ทีนี้ก็มีปัญหาสิครับว่าระบอบทักษิณท่ี่สุเทพหมายถึง มันคืออะไร
1. คำนิยาม
มีคนให้คำนิยามไว้หลายแบบกับคำว่า “ระบอบทักษิณ”
นิยามที่สุดโต่งมากที่สุดที่ผู้เขียนได้ยินมา คือ ระบอบที่คนตระกูลชินวัตรหรือหุ่นเชิดของทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี
ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาก็ง่ายๆ จะเอาคนตระกูล ชินวัตร ออกจากประเทศไทยทั้งหมด ถึงแม้จะดูง่ายไปซักหน่อย แต่คนจำนวนมากเชื่อแบบนี้จริงๆ
อ้างอิง1 และแม้แต่สุเทพเองก็กล่าวไว้เช่นนี้ด้วย อ้างอิง2
ส่วน นิยามที่ผู้เขียนเห็นว่า ที่ดูจะชัดเจนและวิเคราะห์ได้ถึงแก่นมากที่สุด น่าจะเป็นนิยามของอ.เกษียร เตชะพีระ ที่เขียนในบทความเรื่อง “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิทุนจากการเลือกตั้ง (Elected Capitalist Absolutism)” โดยให้ความหมายทำนองว่า เป็นส่วนประกอบของ “หัวหน้าฝ่ายบริหารของคณะกรรมการจัดการผลประโยชน์ร่วมของชนชั้นนายทุนใหญ่ไทย (capitalist political CEO), ผู้ได้อำนาจมาจากการเลือกตั้ง (elected) และใช้อำนาจนั้นแบบอาญาสิทธิ์ (absolute power)” อ้างอิง3
(ขอบคุณรูปจากมติชน)
แล้วก็ยังมีหลายๆนิยามมากมาย ซึ่งผู้เขียนขอสรุปเอาเอง สั้นๆ ว่า
“ระบอบทักษิณคือ มีการใช้เงินเป็นใหญ่ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ (ไม่ว่าจะเป็นการใช้เงินของรัฐผ่านนโยบาย เช่น นโยบาย ประชานิยม หรือใช้เงินส่วนตัว ที่เรียกกันว่า น้ำเลี้ยง) เพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง เมื่อได้เข้ามากุมอำนาจทางการเมือง ก็ใช้อำนาจการเมืองในการบริหารบ้านเมืองโดยมีการใช้อำนาจเพื่อเอื่้อผลประโยชน์ให้กลุ่มธุรกิจและพวกพ้องของตน”
คำนิยามคร่าวๆ ที่เป็นคีย์เวิร์ดของความหมายของระบอบทักษิณในที่นี้ ก็มี “ทักษิณ” “เงิน” “การเลือกตั้ง” และ “อำนาจการเมือง”
เรื่องเงินกับเรื่องการเลือกตั้ง เราคงไม่สามารถแก้ไขแต่ประการใดได้ เพราะมีความพยายามที่จะแก้ไขเรื่อง ทักษิณ และเงินของทักษิณแล้วในอดีต ผ่านทั้ง คำพิพากษาจำคุกของทักษิณ ชินวัตร ในคดีที่ดินรัชดา และการยึดทรัพย์สี่หมื่นล้านหกพันล้านบาทในคำพิพากษายึดทรัพย์ แต่ก็ไม่สามารถกำจัดทั้งตัวทักษิณ และเงินทักษิณให้ออกจากระบอบการเมืองไทยได้
ความพยายามแก้ไขระบบเลือกตั้งก็มีมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่า จะเป็นการรัฐประหารปี 2549 เพื่อร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 ซึ่งเป็นกฎการเมืองฉบับใหม่เพื่อกำจัดระบอบทักษิณ แต่ก็ไร้ผล เมื่อการเลือกตั้งปี 2550 ซึ่งเป็นจัดการเลือกตั้งโดยกกต.ของคณะรัฐประหารในปี 2550 เราได้รัฐบาลพรรคพลังประชาชนของทักษิณ ชินวัตร การแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะที่เกี่ยวกับกฎของการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ แต่สุดท้ายก็ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรก็ชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปี 2554 จะเห็นได้ว่า ไม่จะเขียนกฎการเลือกตั้งแบบไหน อย่างไร รัฐบาลของทักษิณก็กลับมาเป็นรัฐบาลและดำเนินระบอบทักษิณต่อไปเช่นเดิม
ยังเหลืออีกตัวแปรหนึ่งที่เราอาจจะยังไม่ได้ไปแตะต้องมากนัก นั้นคือ “อำนาจการเมือง” จริงๆก็มีความพยายามจะกำจัดระบอบทักษิณด้วยอำนาจทางการเมืองอยู่บ้าง คือมีการถ่วงดุลด้วยพวกที่อยู่ตรงข้ามระบอบทักษิณให้เข้ามาอยู่ในอำนาจในรูปแบบของศาล องค์กรอิสระ และ วุฒิสภาในระบบ สรรหา ความคิดเห็นของผู้เขียน เชื่อว่า อำนาจการเมืองที่เป็นหัวใจของปัญหาการเมืองไทยทั้งหมด ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังไม่มีใครไปแตะ นั้นก็คือ การใช้อำนาจของรัฐบาลแบบรวมศูนย์ (Highly Concentrated and Centralized Power)
2. ปัญหาของระบอบทักษิณ
ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตอนนี้ คือรัฐบาลเป็นรัฐบาลกลางที่มีอำนาจมากเกินไป สิ่งที่หลายๆคนพูดกันว่า ประเทศไทยเป็นระบบทักษินนั้นผู้เขียนเห็นด้วยว่าเป็นเรื่องจริงที่สุด เพราะรัฐบาลทักษิณที่อยู่ในอำนาจนั้น ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างในระบอบราชการในประเทศไทย ไม่ว่า จะเป็นตำรวจ ผู้ว่าราชการจังหวัด สาธารณสุข กระทรวง กรม กอง ต่างๆ ทั่วประเทศ
แต่พอเปลี่ยนรัฐบาล อย่างเช่น รัฐบาลเมื่อปี 2553 ประเทศก็เป็นระบอบอภิสิทธิเช่นกัน อภิสิทธิ์ก็รับอำนาจนั้นต่อมาเช่นเดียวกัน (แต่อาจไม่ได้ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเนื่องจากประชาธิปัตย์ต้องเป็นการรวมกลุ่มที่ความหลากหลายทางการเมืองที่มากกว่า)
และถ้าสุเทพล้มรัฐบาลได้ ได้รัฐบาลของตัวเองโดยไม่มีการปรับเปลี่ยนแก้ไข เราก็จะได้ระบอบสุเทพ ที่สุเทพจะเป็นคนชี้เป็น ชี้ตาย ในทุกๆส่วนของระบบรัฐบาลเช่นเดียวกัน
เรียกได้ว่าระบบการเมืองของประเทศไทยที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เป็นระบอบที่ผู้ชนะได้ทุกสิ่งทุกอย่าง (Winner takes all) และผู้แพ้ไม่ได้อะไรเลย เช่นกัน สิ่งที่ประชาธิปัตย์จะได้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า มีเพียงแค่ตำแหน่ง ส.ส. พรรคฝ่่ายค้าน ที่มีอำนาจยกมือ ออกกฎหมาย (ซึ่งกฎหมายก็คงไม่ได้ออก เพราะเสียงตัวเองย่อมสู้เสียงพรรคเพื่อไทย ไม่ได้อยู่แล้ว) เหลือเพียงหน้าที่อยู่อย่างเดียวตัวเองจะทำได้ ตรวจสอบรัฐบาล ซึ่งเมื่อฟังดูเผินๆ ก็เหมือนว่า ฟังดูดี ทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตของรัฐบาล โดยหวังว่า เมื่อรัฐบาลหมดความนิยม ประชาชนส่วนหนึ่งจะหันมาเลือกตนเองเพื่อไปเป็นรัฐบาลแทน
ซึ่งคำถามที่เกิดขึ้นก็คือ มันเป็นไปได้หรือที่ความนิยมของพรรครัฐบาลจะลดลง แต้ถ้าความนิยมของพรรครัฐบาลไม่ลดลง หรือไม่ได้เสื่อมไปในระยะเวลาอันสั้น จะเกิดอะไรขึ้น พรรคฝ่ายค้านจะเป็นฝ่ายค้านเพื่อตรวจสอบรัฐบาลไปตลอดชีวิตอย่างนั้้นหรือ เราต้องยอมรับว่าในระบอบการเมืองของไทยที่เป็นอยู่ตอนนี้นั้น ฝ่ายรัฐบาลมีความได้เปรียบในการเลือกตั้งทุกครั้งอย่างมาก เนื่องจากมีทั้งอำนาจรัฐและผลงานที่ทำมาตลอดสมัยของรัฐบาลอยู่ในมือ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงตั้งแต่ ปี 2544-2549 ที่พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งถึงสามครั้งติดๆกัน และเมื่อพรรคฝ่ายค้านไม่มีแรงจูงใจ (Incentive) ที่จะชนะการเลือกตั้งในสภา พรรคเสียงข้างน้อยอย่างประชาธิปัตย์จึงต้องออกมาเล่นนอกสภา ม้อบจึงเกิดขึ้นบนถนน เป็นสงครามที่มีขึ้นแบบ All or nothing ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
เพราะเหตุนี้ เมื่อมีใครก็ตามชนะเป็นรัฐบาล อีกฝั่งจึงพยายามก่อม้อบ ออกมาไล่รัฐบาลให้เร็วที่สุด เพราะ ไม่ว่าฝ่ายไหนก็รู้ตัวว่า หากปล่อยให้อีกฝ่ายเป็นรัฐบาล โอกาสที่ตนจะต้องเป็นฝ่ายค้าน นั่งตบยุงไป 4-8ปีมีค่อนข้างสูงทีเดียว นอกจากกระสุน(ทุน)จะร่อยเหรอไปทุกวันแล้ว โอกาสที่จะแสดงฝีมือให้ชาวบ้านเห็นว่า พรรคของตนมีฝีมือก็จะไม่มีด้วย
(ขอบคุณภาพจาก The Guardian)
3. รัฐบาลกลางที่มีอำนาจจำกัด (Limited government) คือทางรอด
ผู้เขียนขอเสนอโมเดลการแก้ปัญหา การเมืองไทย ด้วย Limited Government หรือรัฐบาลกลางที่มีอำนาจจำกัด หรือ มีขนาดเล็ก (Small government) จริงๆแล้ว สิ่งที่ผู้เขียนเสนอ มันก็เป็นสิ่งเดียวกับการกระจายอำนาจที่หลายฝ่ายเสนอ รวมถึงเป็นหนึ่งในข้อเสนอของกปปส.ด้วย (แต่อาจจะถูกพูดถึงน้อยเกินไปจากทางม้อบ)
ซึ่งข้อเสนอ การกระจายอำนาจ ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคม
การผลักดันการกระจายอำนาจจากภาคประชาชนมีมาตั้งแต่ก่อนช่วงปี 30
จนมาสำเร็จครั้งแรกใน รัฐธรรมนูญ 2540
สรุปง่ายๆ ข้อดีของการกระจายอำนาจ ที่เขียนตามตำราเล่มต่างๆ จะมีอยู่ สองข้อหลัก
ข้อแรก การกระจายอำนาจทำให้ การบริหารราชการแผ่นดิน ฟังเสียงของคนในพื้นที่มากขึ้น เนื่องจากกประชาชนในพื่นที่เป็นคนเลือกรัฐบาลนั้นเอง รัฐบาลจึงต้องตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่มากกว่า หน่วยราชการที่มาจากรัฐบาลกลาง
ข้อที่สอง รัฐบาลที่มาจากรัฐบาลการกระจายอำนาจท้องถิ่น มักจะทำงานได้รวดเร็วกว่า (Higher Efficiency) เนื่องจากระบบสายบังคับบัญชาที่สั้นกว่า ขนาดที่เล็กกว่า ส่วนรัฐบาลที่มาจากการแบ่งอำนาจนั้น ต้องรอการตัดสินใจจากส่วนกลาง อำนาจของหน่วยข้าราชการ ถูกจำกัด ด้วยอำนาจที่แบ่งมาจากส่วนกลาง การทำงานจะช้าและอุ้ยอ้ายกว่า
ซึ่ง ณ สถานการณ์ปัจจุบัน องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นที่เรามี ไม่ว่า จะเป็น อบจ. อบต. เทศบาล ก็สามารถดำเนินการได้ดี แต่ยังมีอำนาจอีกหลายประเภทที่รัฐบาลกลางไม่ยอมให้ขึ้นตรงต่อท้องถิ่น อย่างเช่น สายบังคับบัญชาของตำรวจ การออกใบอนุญาตการประกอบธุรกิจ หรือ โรงงานอุตสาหกรรม และงบประมาณส่วนกลางที่เป็นผลประโยชน์มูลค่ามหาศาล
มุมมองที่สำคัญที่เราควรพิจารณาคือ มิติเชิงอำนาจซึ่งก็อย่างที่เราเห็นๆกันว่า กปปส.เสนอข้อเสนอหล่านี้ด้วยตัวเอง มีทั้ง การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และ การให้ตำรวจขึ้นตรงต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
ซึ่ง
ผู้เขียนเชื่อว่า การที่กปปส.มีข้อเสนอจำพวกนี้
ก็เพราะอยากให้ฝ่ายประชาธิปัตย์ได้ครอบครองอำนาจบ้างไม่ว่า
จะเป็นอำนาจและงบประมาณในการคุมส่วนราชการในจังหวัด หรือ
อำนาจทางตรงที่เห็นได้ชัดแจ้งที่สุดคืออำนาจตำรวจ
แต่ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น เป็นมุมมองเชิงวิชาการ ที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย หากพรรคการเมืองไม่ตอบรับ (ไม่มีพรรคการเมืองไหนที่ชนะการเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลแล้ว อยากจะปล่อยผลประโยชน์ของตัวเอง ปล่อยอำนาจของตนไปให้รัฐบาลท้องถิ่น)
4. ทางออกของประชาธิปไตยการเมืองไทย
คราวนี้เรามาดูกันว่า ทำไมการจำกัดอำนาจรัฐบาลกลางให้รัฐบาลมีขนาดที่เล็กลง ถ้าพูดกันตรงๆก็คือ กระจายอำนาจให้ประชาธิปัตย์(และพรรคท้องถิ่นอื่นๆ) ถึงเป็นทางออกของประชาธิปไตยการเมืองไทย
1. การจำกัดและลดอำนาจรัฐบาลกลางสามารถลดเดิมพัน(Stake) ของการเมืองระดับชาติ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของวิกฤตการเมืองในปัจจุบันคือ การแย่งชิงผลประโยชน์ทางการเมือง ทั้งในส่วนของงบประมาณ อำนาจทางการเมืองที่มีผลต่อธุรกิจของตนจำพวกใบอนุญาต หรือ อำนาจทางตรงอย่างเช่น อำนาจในการคุมตำรวจ ซึ่งล้วนแต่เป็นเดิมพันที่สำคัญของการชนะหรือแพ้การเลือกตั้ง ซึ่งผลพลอยได้ที่สำคัญมากของการจำกัดอำนาจรัฐบาลกลาง และกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นก็คิือ เราจะสามารถทำให้การกระจายเวทีการชิงอำนาจกันระหว่างสองกลุ่มการเมืองใหญ่ ไปชิงอำนาจกันในท้องถิ่น โอกาสของการเกิดวิกฤตการเมืองระดับชาติก็จะลดลง
2. อำนาจเบ็ดเสร็จของรัฐบาลเดียวเป็นสิ่งที่อันตราย ถ้ารัฐบาลจะใช้อำนาจเด็ดขาดไปในทางที่ผิด ความเสียหายจากนโยบายที่ผิดๆของรัฐบาลเดียว อาจมีผลกระทบเสียหายในวงกว้าง นโยบายอย่าง สงครามยาเสพย์ติด ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า สองพันคน เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด หรือ เหตุการณ์ที่ตากใบที่มีผู้เสียชีวิต จำนวน 85 ศพ ก็เป็นผลจากการที่เรามีรัฐบาลกลางที่อำนาจที่เข้มแข็งและลุแก่อำนาจเช่นกัน
3. พรรคเสียงข้างน้อย (ที่แทบจะไม่มีโอกาสจะชนะการเลือกตั้งเลย) จะได้มีโอกาสแสดงมีฝีมือให้กับประชาชนเห็น เนื่องจาก ตนเองที่ชนะการเลือกตั้งในพื้นที่ สามารถที่จะบริหารพื้นที่ของตนเองให้เจริญรุ่งเรื่องได้ ซึ่งข้อนี้เห็นได้ชัดว่า ตอนทักษิณเป็นนายกเกือบ 7 ปี คนของพรรคประชาธิปัตย์นี้ไม่มีโอกาสแสดงผลงานเลย
4. พรรคเสียงข้างน้อยมีโอกาสได้เก็บสะสมทุนหรือกระสุน (ไม่ว่าจะถูกกฎหมาย หรือผิดกฎหมาย) เพื่อให้มีโอกาสชนะเลือกตั้งในสนามเลือกตั้งใหญ่บ้าง เราต้องยอมรับว่า การเมืองเป็นเรื่องของการจัดการผลประโยชน์ เราจำเป็นต้องให้คนกลุ่มได้จัดการผลประโยชน์ทางการเมืองของฐานเสียงของตน(เช่น ประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาลในส่วนของภาคใต้)
5. เป็นการหางานให้ฝั่งที่ไม่ชนะเลือกตั้งใหญ่ ได้ทำงานบ้าง ได้ฝึกฝนฝีมือบ้าง อาจมีสนามในการลองใช้นโยบายบางอย่างของพรรคในพื้นที่ แล้ว ถ้าใช้การได้ดี จะได้นำไปทำในระดับประเทศต่อไป นอกจากนี้ยังเป็นการลดความเสี่ยง ในนโยบายระดับประเทศที่อาจะใช้งานไม่ได้บางอย่าง เช่น จำนำข้าว หรือ ชั่งไข่เป็นกิโล ก็ควรจะลองทำในพื้นที่ของตนก่อน
6. ผู้เขียนเชื่อว่า ถ้าเราจัดการผลประโยชน์ทางการเมืองลงตัว ความสงบเรียบร้อยจะเกิดขึ้นในสังคม ณ ตอนนี้ ต้องยอมรับว่า มีคนหลายกลุ่มไม่มีความสุข ความพอใจกับระบอบการเมืองของไทย และเมื่อไรที่ความไม่พอใจทางการเมืองนั้นรุนแรงมากขึ้น การจับอาวุธขึ้นต่อสู้ก็มักจะตัวเลือกที่ไม่สามารถหลีักเลี่่ยงได้ ซึ่งตัวอย่างที่เห็นก็เกิดขึ้นมาตลอด7-8ปี ที่ผ่านมา ไม่ว่า จะเป็นการก่อจราจลทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดง รวมไปถึง เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
7. การลดอำนาจรัฐบาลกลางนั้นจะเป็นการลดแรงจูงใจในการล้มล้างประชาธิปไตยด้วยวิธีนอกกฎหมาย หลายต่อหลายครั้งในประวัติศาสตร์เรามีรัฐประหารเกิดขึ้น เพราะการแก่งแย่งอำนาจกันในกรุงเทพมหานคร ซึ่งในต่างจังหวัด ซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆเหล่านี้ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ แต่กลับมาถูกผลกระทบไปด้วย
8. การจำกัดอำนาจรัฐบาลกลางและกระจายอำนาจไปให้ท้องถิ่นจะทำให้ความเจริญไม่กระจุกตัวแต่เพียงในกรุงเทพมหานคร การที่รัฐบาลกลางที่อยู่ที่กรุงเทพมหานครมีขนาดใหญ่และมีอำนาจมากจะทำให้งบประมาณต่างๆกระจุกตัวอยู่ภายในพื้นที่ที่คนคุมนโยบายเห็นเป็นหลัก ตัวอย่างเช่น มันยากมากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคมนาคมที่เป็นคนดูแล ขสมก. จะเริ่มจัดการเดินรถประจำทางในทุกจังหวัดในประเทศไทยพร้อมๆกัน การกระจายอำนาจกระทรวงคมนาคมเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ขนส่งมวลชนเกิดขึ้นจริงๆทั่วทั้งประเทศ (ตอนนี้จังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีรถเมล์คือ กรุงเทพมหานคร)
5. สรุป
ท้ายที่สุด การอ้างว่าระบอบการปกครองในปัจจุบันของประเทศไทย
เป็นระบอบประชาธิปไตยที่นานาอารยะประเทศ ใช้กันเป็นมายาคติที่มีการอ้างกันไปตามที่พูดกันปากต่อปาก ประเทศที่พัฒนาแล้วต่างๆ มักมีรัฐบาลท้องถิ่นที่เข้มแข็ง ความเห็นผู้เขียนเห็นว่า ระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง ถ้าไม่มีการจำกัดอำนาจของรัฐบาลกลาง (Limited government) การจำกัดอำนาจรัฐบาลเป็นหลักการที่พื้นฐานที่สุด คือ หลักแบ่งแยกอำนาจ (Separation of Powers) ถึงแม้ว่าจะดูเหมือนกับว่าประเทศไทยรับหลักการนี้มา คือ มีการใช้อำนาจอธิปไตย ผ่าน รัฐบาล รัฐสภา และศาล แต่อย่างไรก็ดี การคานอำนาจและจำกัดอำนาจในเชิงแนวตั้งยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน คนไทยส่วนใหญ่หวังและฝันให้รัฐบาลในระดับชาติเป็นผู้บันดาลทุกสิ่งทุกอย่างให้เกิดขึ้น อาจเป็นเพราะ ระบบอำนาจแบบรวมศูนย์และรัฐบาลขนาดใหญ่ เป็นระบบที่อยู่กับประเทศไทย มาตั้งแต่สมัยรัชกาล ที่
5
การแก้ปัญหาของประเทศนี้คงไม่ได้อยู่ที่การเอาคนตระกูลใด
ตระกูลหนึ่ง หรือ กลุ่มใด กลุ่มหนึ่งออกจากประเทศนี้
แต่เราต้องวางระบบการเมืองที่มีแรงจูงใจ(Incentive)ที่ถูกต้อง
มีการไกล่เกลี่ยผลประโยชน์ให้ทุกฝ่ายพอใจ ผู้เขียนเชื่อว่า ในวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ยังมีโอกาสที่จะทำให้เรื่องการกระจายอำนาจนั้นเป็นจริงขึ้นมาในสังคม ซึ่งที่ผ่านมา หลายฝ่ายมองเห็นถึงหัวใจของปัญหนี้ แต่ไม่มีใครสนใจที่แก้ไข เนื่องจากไม่มีเหตุผลทางการเมืองที่เพียงพอ แต่จากวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา 8 ปีนั้น คงจะทำให้ข้อเสนอพวกนี้มีเหตุผลรองรับทางการเมืองอยู่บ้าง ผู้เขียนเชื่อว่าฝ่ายรัฐบาลทักษินน่าจะรับข้อเสนอปฎิรูปทั้งสองข้อนี้ได้ ซึ่งน่าจะเป็นวิธีการที่ยั่งยืนต่อประเทศมากที่สุด
พรรคเพื่อไทยคงจะได้เป็นรัฐบาลต่อ แต่อาจต้องเสียอำนาจในการบริหารในภาคกลาง กรุงเทพมหานคร และภาคใต้บ้างก็คงจะไม่เสียหายทางการเมืองมากนัก
อ้างอิง
1. ASTVผู้จัดการออนไลน์, ใช่ คนไทยเกลียด-รู้ทันอยากให้ ชินวัตร ออกไปทั้งโคตร !!,
http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9560000152344
2. Thairathonline, 'สุเทพ' ระบุ ตระกูล 'ชินวัตร' ต้องหมดไปจากการเมืองไทย
, https://www.thairath.co.th/content/oversea/388181
3. http://www.thaingo.org/story/aop_01.htm
3. http://www.thaingo.org/story/aop_01.htm
Comments
Post a Comment