ทำไมแท็กซี่จึงปฎิเสธผู้โดยสาร (แล้วจะแก้ปัญหายังไงดีนะ)

ผมคิดมาหลายวันละครับว่า จะให้ของขวัญปีใหม่แฟนเพจ เป็นอะไรดี เอาเป็นว่า เป็นบทความที่ไม่วิชาการที่หลายๆคน(น่า)จะอยากรู้ก็แล้วกันครับ

จริงๆ ผมคิดว่า อยากจะเขียนบทความเรื่องนี้มานานละ แต่ไม่มีโอกาสได้เขียนซักที
เผอิญ วันนี้เห็นคุณผู้หญิงคนนึง ด่าแท็กซี่ซะไม่มีชิ้นดี ก็เลยได้ฤกธ์ครับ

เรื่องของเรื่องคือ คุณผู้หญิงจะเรียกแท็กซี่ จาก RCA ไป จรัญสนิทวงศ์ 57  พี่แแท็กซี่ไม่มีใครไป บอกว่าจะเหมาไปอย่างเดียว

ลิ้ง คลิปคุณผู้หญิงหาแท้กซี่ไม่ได้

จริงๆ คำตอบของเรื่องนี้ มีอยู่แล้วครับ ถ้าอยากกลับบ้าน ต้องเหมาอย่างเดียว

ทีนี้ มาดูกันว่า ทำไมพี่แท็กซี่ถึงอยากจะไปแค่เหมาอย่างเดียว

คือ คนจำนวนมากในสังคมคิดว่า ถ้ามันไม่รับคน ก็ต้องไปเอากฎหมายมาบังคับ ไม่รับคน อยากได้เงินเยอะนักใช่มั้ย จับเข้าคุกเลยเป็นไง

คือก่อนที่จะให้เอาใครเข้าคุก เข้าตาราง 
เราจะต้องรู้ก่อนครับว่า ทำไมเค้าจึงทำเช่นนั้น อะไรเป็นแรงจูงใจ
ซึ่งจะตอบคำถามเรื่องนี้ได้ จำเป็นต้องเข้าใจตลาดของแท็กซี่มิเตอร์ก่อน

คือ เราต้องเข้าใจก่อนว่า ราคาของสินค้าต่างๆในโลกนี้ เกิดจากอะไร
คำตอบง่ายๆ คือ ปริมาณของสินค้าในตลาด(Supply) และปริมาณความต้องสินค้าในตลาด (Demand)

ซึ่ง ถ้าท่านผู้อ่านยังจำตอนเรียนเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น ตอนสมัยม.ปลายได้ 
ท่านคงจำได้ว่า  
1. ถ้าคนต้องการของในตลาดมากขึ้น แต่ปริมาณสินค้าเท่าเดิม ราคาของชิ้นนั้นต้องแพงขึ้น
2. ถ้าคนต้องการของในตลาดน้อยลง แต่ปริมาณสินค้าเท่าเดิม ราคาของชิ้นนั้นต้องถูกลง

ทีนี้ เรามาดูว่า การเรียกแท็กซี่ช่วง เจ็ดโมงถึงเก้าโมงเช้า หรือ สี่โมงเย็นถึงสองทุ่ม หรือ ช่วงตีสอง ที่คุณผู้หญิงคนนี้อยากกลับบ้านใจจะขาดเป็นอย่างไร

ช่วงเวลาดังกล่าว อาจเรียกได้ว่า เป็นช่วงเวลาเร่งด่วน (Peak Hours) กล่าวคือ มีคนไปมาสัญจรมาก เพราะตอนช่วงเช้าต้องไปทำงาน ช่วงเย็นต้องไปกลับบ้าน ช่วงผับปิด คนก็ต้องการจะกลับบ้านกันเยอะ

แต่เนื่องจากราคาของแท็กซี่มิเตอร์ในบ้านเรานั้น เป็นราคาเดียวกันหมด 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นเวลาใดก็ตามเนื่องจากถูกควบคุมราคา(Regulated price)โดยกรมขนส่ง ผ่านทาง เจ้ามิเตอร์ตัวดีนั่นเอง

แต่ถ้าถามว่าจะให้เลิกใช้มิเตอร์ ก็คงจะไม่ได้อีกเช่นกัน เพราะ ตลาดของรถแท้กซี่นั้นเป็นตลาดที่ผู้ซื้อและผู้ขายมีข้อมูลไม่เท่ากัน (Asymetric information) ซึ่งมิเตอร์เป็นอุปกรณ์ที่เข้ามาแก้ปัญหาในจุดนี้ กล่าวคือ ในตลาดนั้นมีผู้โดยสารหลายแบบ ทั้งแบบที่เดินทางทุกวัน ย่อมจะรู้ราคาเป็นอย่างดี หรือ ประเภทขาจร ไปที่ๆตัวเองไม่เคยไปเพียงครั้งเดียว คนพวกนี้ อาจหัวแบะได้ ซึ่งมิเตอร์นั้นเข้ามาปกป้องคนประเภทนี้ไม่ให้ถูกเอาเปรียบ

แต่ทีนี้มันมีปัญหานิดนึงครับ เนื่องจากสิ่งที่เราอธิบายไปแล้วว่า ราคาที่แท้จริงของค่าโดยสาร นั้นขึ้นอยู่กับปริมาณความต้องการของผู้โดยสาร ซึ่งแต่ละเวลามันก็ไม่เท่ากันซะอย่างนั้น จากการที่เราตั้งใจมิเตอร์ให้มิเตอร์เป็นพระเอกในเรื่องนี้ มิเตอร์กลับกลายเป็นผู้ร้ายไปซะเอง

เรื่องของเรื่องก็เพราะว่า ณ ช่วงเวลาเร่งด่วนดังกล่าว ปริมาณของแท็กซี่นั้นไม่ได้เพิ่มตามความต้องการของตลาด ราคาที่แท้จริงของค่าโดยสารในช่วงนั้นจึงพุ่งสูงขึ้นไปกว่าระดับที่กำหนดโดยกรมการขนส่ง แต่เนื่องจากทุกคน ทั้งคนขับและผู้โดยสาร ยังยึดตามมิเตอร์อย่างเคร่งครัด เจ้ามิเตอร์พระเอกของเราจึงกลายสภาพป็นตัวเพดานราคา (Price ceiling) ซึ่งแน่ล่ะครับ ท่านๆที่ยังจำเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นได้ สินค้าจึงขาดตลาดนั่นเอง

ซึ่งนี่ก็เป็นเหตุผลที่เราๆท่านๆ รวมถึงคุณผู้หญิงที่อยู่ในคลิปด้วยว่า ทำไมแท็กซี่ถึงไม่ยอมไปส่งที่จรัญ 57 (ฮา)

การตกลงเหมาแท้กซี่ที่พี่แท้กซี่มักเสนอให้ ในช่วงเวลาเหล่านี้  ไม่ใช่เพราะ พี่เค้าเลว หรือ เค้าหน้าเงิน เค้าเพียงทำตามที่ตลาดกำหนดนั่นเอง

ความจริงๆ แล้วมิเตอร์ พระเอกของเรา ไม่ได้ทำร้ายแค่ผู้โดยสารอย่างพวกเราเท่านั้น เจ้ามิเตอร์ยังทำร้ายตัวคนขับแท้กซี่เองด้วย 
กล่าวคือ ในช่วงเวลาบางเวลาที่ผู้โดยสารน้อยลง อย่างเช่น หลังเที่ยงวันจนถึงก่อนช่วงสี่โมง หรือ ช่วงดึกๆ ตีสามเป็นต้นไป ช่วงนี้พี่แท็กซี่เปิดไฟว่างกันเพียบๆ (ถึงยังไม่เป็นกระแส เวลาผมนั่งเค้าก็บ่นกันบ่อยๆว่า ไม่มีคนเลย)
ซึ่งช่วงนี้ เจ้ามิเตอร์ของเรากลับทำตัวเป็นราคาขั้นต่ำ (Price Floor) ซึ่งผมที่เกิดขึ้นก็คือ สินค้าเหลือเพียบ!

ทั้งหมดทั้งปวงที่ผมเขียนมาทั้งหมดนี้ ก็เพื่อ เสนอทางแก้ คือ
ราคาแท็กซี่มิเตอร์ ควรปรับตามเวลาครับ

โดยมากแล้ว แท็กซี่ตามเมืองที่เจริญต่างๆ เค้าทำแบบนี้กันหมด


ตัวอย่างเช่น 

ในนิวยอร์ก ต้องจ่ายเพิ่ม 1 เหรียญ ในช่วงเวลาสี่โมงถึงสองทุ่มของวันธรรมดา


ในลอนดอน แท็กซี่ช่วงกลางวันกับกลางคืนราคาไม่เท่ากัน แถมวันหยุดช่วงคริสมาสต์และปีใหม่ ราคาเพิ่มขึ้นอีก 4 ปอนด์

นอกจากการปรับตามเวลาแล้ว การปรับตามพื้นที่(Zone)ก็จำเป็นอย่างยิ่ง
เพราะ มันมีบางพื้นที่รถติดกว่าพื้นที่อื่น หรือ บางพื้นที่ที่ผู้โดยสารเบาบาง ทั้งนี้เนื่องจาก การไปที่หมายประเภทนี้ มีต้นทุนในการเดินรถที่สูงกว่าปกติ ซึ่งหากไม่มีการปรับราคา การปฏิเสธผู้โดยสารของพี่โชเฟอร์ก็คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ (สังเกตได้ว่า คนบ้านอยู่ฝั่งธน หรือรอบนอก โดนปฎิเสธบ่อยกว่าเพื่อน)
ซึ่งตัวอย่างเช่นที่ลอนดอน การจะออกไปที่หมายนอกลอนดอนรอบนอก(Greater London) ก็ต้องมีการตกลงค่าโดยสารระหว่างคนขับกับผู้โดยสารเช่นกัน 


แม้ในตอนนี้ คสช. ขึ้นราคาแท้กซี่โดยเฉลี่ย 13% แล้ว ซึ่งถ้าท่านผู้อ่าน ลองคิดตามที่ผมอธิบายไปข้างต้นแล้ว
กรณีอาจทำให้แท็กซี่รับผู้โดยสารมากขึ้นในเวลาเร่งด่วน แต่ ถ้าราคาที่กำหนดใหม่ยังไม่สูงกว่าราคาที่แท้จริง แท็กซี่ก็ยังจะขาดในตลาดอยู่ดี แถม ถ้าเป็นช่วงเวลาปกติ คนอาจจะขึ้นแท็กซี่น้อยลง ซึ่งน่าจะเป็นผลเสียโดยรวมกับพี่ๆแท็กซี่เองครับ

ถึงบรรทัดนี้ ผมเชื่อว่า ท่านผู้อ่าน คงเข้าตลาดแท็กซี่ได้ดีขึ้นแล้ว ถ้าวันไหนเรียกพี่แท็กซี่ แล้วเค้าไม่ไป แทนที่จะถอดใจหรือด่าส่ง แล้วเรียกคันหน้า ลองต่อรองราคากับพี่เค้าดู สมมติว่า เราเดินทางปกติ แปดสิบบาท ถ้าเค้าเสนอตัวเลขกลับมา อาจจะต้องเพิ่มเป็นหนึ่งร้อยบาท ก็ต้องลองต่อลองดู  (อาจจะต้องยอมเสียเงินเพิ่มหน่อย แต่ต้องคิดอยู่ในใจว่า ราคาในตลาดอาจจะสูงกว่าที่เราคิดก็เป็นไปได้) 

ในเวลาที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนอย่างพวกเราก็ต้องพึ่งตัวเองล่ะครับ

(จริงๆแล้วมีวิธีแก้ปัญหาทางอื่นอีก อย่างเช่น การใช้แอพพวก Uber ที่ถูกแบนไปแล้ว เดี๋ยววันหลังว่างๆ ผมจะเขียนให้อ่านครับ)


ผมขอบคุณท่านผู้อ่านทุกคนที่ติดตามกันมาตลอดปีที่ผ่านมา ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่นี้ ผมขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย จงคุ้มครองดลบันดาลให้มีท่านผู้อ่านและครอบครับ มีสุขภาพแข็งแรง ปราศจากเภทภัย ทั้งมวล
สวัสดีปีใหม่ครับ

อ้างอิง
1. อัตราค่าโดยสาร NYC Yellow Cab
2. อัตราค่าโดยสาร London Cab
3.. ข่าวขึ้นราคาแท็กซี่


Comments

Popular posts from this blog

ล้อการเมืองของจุฬา หายไปไหน ผมมีเรื่องมาเล่าให้ฟังครับ

ผ่านไปแล้วครึ่งปี บทเรียนของสังคมไทยจากกรณีน้องแก้ม (ลืมไปรึยังนะ)