วิเคราะห์นโยบายหาเสียงเลือกตั้ง’54 : ข้อเสนอลดภาษีเงินได้นิติบุคคล
คริส โปตระนันทน์
(น.บ. เกียรตินิยม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, น.บ.ท.)
เผยแพร่ใน www.prachatai.com เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2554
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การหาเสียงในยุคนี้ไม่ได้มีแค่การให้หัวคะแนนขนคนมาลงคะแนนอีกแล้ว แต่กลับกลายเป็นการต่อสู้กันด้วยนโยบายกันมากขึ้น บทความนี้ผู้เขียนจะวิเคราะห์นโยบายภาษีของพรรคเพื่อไทยที่ยังมีคนพูดถึงกันไม่มากนัก แต่เป็นนโยบายที่สำคัญมากต่อประเทศ นโยบายนี้คือการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ในปีหน้าและเหลือ 20% ในปี พ.ศ. 2556
(น.บ. เกียรตินิยม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, น.บ.ท.)
เผยแพร่ใน www.prachatai.com เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2554
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การหาเสียงในยุคนี้ไม่ได้มีแค่การให้หัวคะแนนขนคนมาลงคะแนนอีกแล้ว แต่กลับกลายเป็นการต่อสู้กันด้วยนโยบายกันมากขึ้น บทความนี้ผู้เขียนจะวิเคราะห์นโยบายภาษีของพรรคเพื่อไทยที่ยังมีคนพูดถึงกันไม่มากนัก แต่เป็นนโยบายที่สำคัญมากต่อประเทศ นโยบายนี้คือการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ในปีหน้าและเหลือ 20% ในปี พ.ศ. 2556
ในเรื่องนี้ดูเหมือนว่าจะมีความเคลื่อนไหวในรัฐบาลอภิสิทธิ์อยู่ช่วงหนึ่งว่า กระทรวงการคลังเสนอให้ลดภาษีชนิดนี้ และจะยกเลิกสิทธิพิเศษทางด้านภาษีบีโอไอ แต่ในที่สุดดูเหมือนว่าจะมีเสียงทักท้วงถึงเรื่องการขาดรายได้ของรัฐ เรื่องจึงเงียบหายไป ทั้งที่ตอนนั้นผู้เขียนก็แอบเอาใจช่วยรัฐบาลประชาธิปัตย์ให้ออกนโยบายที่สำคัญครั้งยิ่งใหญ่ของเมืองไทยให้สำเร็จ แต่สุดท้ายอาจจะเพราะแรงกดดันทางการเมือง รัฐบาลอภิสิทธิ์จึงใส่เกียร์ถอยในเรื่องนี้
ส่วนคีย์แมนของประชาธิปัตย์อย่างกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจว่า เรื่องนี้เป็นจุดยืนคนละจุด ที่ว่าเพื่อไทยทำ ประชาธิปัตย์ไม่ทำ ประชาธิปัตย์จะทำเพียงมาตรการเพิ่มค่าลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล หากบริษัทใดขึ้นค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างพนักงานเท่านั้น
ส่วนเพื่อไทยหลังจากที่ทะเลาะกันในพรรคอยู่พักใหญ่ๆ แต่ตอนหลังก็เปิดนโยบายนี้ออกมา ซึ่งก็น่าจะเป็นอีกจุดหนึ่งที่ประชาชนอย่างพวกเราน่าจะพิจารณานโยบายนี้เป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจในวันเลือกตั้งครับ
เพื่อความเข้าใจของผู้อ่านที่อาจจะไม่ใช่นักกฎหมายหรือนักธุรกิจ ภาษีเงินได้นิติบุคคลหมายถึง ภาษีที่บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนทุกแห่งในประเทศไทยที่ในทางกฎหมายถือว่าเป็นนิติบุคคลจะต้องจ่ายให้แก่รัฐทุกปี ในอัตราคงที่ (Flat rate) 30% ของกำไรในปีนั้น อย่างเช่น บริษัท A มีกำไรในปี 2553 เป็นเงิน 100 บาท จะต้องจ่าย 30 บาทเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่รัฐ
สำหรับประเด็นที่สำคัญของนโยบายนี้คือ หากมีการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจริง รายได้ที่จะเข้าคลังจะลดลงหรือไม่ เพียงใด ซึ่งหากพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้วรายได้ของรัฐจะลดลงจริง แต่เป็นการลดลงในช่วงระยะสั้นๆ เท่านั้น เนื่องจากในช่วงแรกบริษัทที่อยู่ในประเทศไทยจะจ่ายภาษีน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้เงินภาษีที่จัดเก็บเข้ารัฐนั้นจัดเก็บได้น้อยลง แต่ในระยะยาวการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลที่น้อยลงจะทำให้มีการลงทุนมากขึ้นทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ
สิ่งที่เราต้องเข้าใจก่อนในโลกธุรกิจคือ เรื่องของกำไร เมื่อรัฐตอบสนองให้ภาคธุรกิจมีโอกาสที่จะได้กำไรมากขึ้นโดยการเก็บภาษีน้อยลง เรื่องนี้จะเป็นแรงจูงใจที่สำคัญของภาคธุรกิจให้มีการขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นสำหรับธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่แล้ว และสำหรับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่ได้เข้ามาแข่งขันในตลาดเพราะก่อนหน้านี้ไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ก็จะกล้าลงทุนมากขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ จะมีบริษัทจำนวนมากขึ้น ทุกบริษัทแม้จะจ่ายภาษีในอัตราที่ต่ำลง แต่เมื่อจำนวนบริษัทมากขึ้น รายได้ภาษีโดยรวมของรัฐก็มากขึ้นตามไปด้วย
ยกตัวอย่างเช่น ที่อัตราภาษี 30% มีบริษัทที่สามารถแข่งขันได้อยู่ในตลาด 10 บริษัท ทุกบริษัท มีรายได้ 10 หน่วย ทุกบริษัทจะเสียภาษีเป็นรายได้ของรัฐ 3 หน่วย รวมเป็นรายได้ทั้งหมด 30 หน่วย ขณะที่เมื่ออัตราภาษีที่ต่ำลง เช่น ที่อัตรา 20% อาจทำให้มีบริษัทที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดมากขึ้นเป็น 20 บริษัท ซึ่งแต่ละบริษัทเสียภาษีลดลงเป็นบริษัทละ 2 หน่วย ซึ่งจะทำให้รายได้ของรัฐโดยรวมเป็น 40 หน่วย และเมื่อมีบริษัทแข่งขันกันมากขึ้น ผลิตภัณฑ์สินค้าก็มีราคาถูกลง คุณภาพดีขึ้น ทำให้ขายของได้มากขึ้น เศรษฐกิจขยายตัว กำไรของบริษัทก็เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้รัฐเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย
เราสามารถดูตัวอย่างได้จากประเทศหลายประเทศเช่นกัน ฮ่องกง และสิงคโปร์มีอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเพียงแค่ 16.5% และ 17% ตามลำดับ มาเลเซีย 25% เวียดนาม 25% อินโดนีเซีย 25% เกาหลีใต้ 22% ขณะที่ประเทศไทยเก็บอยู่ที่ 30% ซึ่งแทบจะเป็นอัตราที่สูงที่สุดในโลกแล้ว
เราจะเห็นได้ว่า ประเทศที่เก็บภาษีต่ำ กลับมีรายได้รวมมากกว่าประเทศที่เก็บภาษีสูง เช่น ในปี 2552 ในขณะที่ประเทศไทยเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล 30% กลับมีรายได้เพียง 392,172 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพียงแค่ 4.05% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี (มูลค่าจีดีพีของประเทศไทยคือ 263,856 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 8,002,752.48 ล้านบาท) ขณะที่ฮ่องกงซึ่งเก็บภาษีเพียงแค่ 16.5% ซึ่งแม้จะมีขนาดจีดีพีที่เล็กกว่าประเทศไทยมาก (ฮ่องกงมีจีดีพี 215,355 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 6,531,717 ล้านบาท) แต่กลับมีรายได้รวมจากภาษีนิติบุคคลถึง 99,294 ล้านเหรียญดอลลาร์ฮ่องกงหรือประมาณ 387,198 ล้านบาทหรือ 5.92% ของจีดีพี ซึ่งหากดูเพียงแค่รายได้สุทธิอาจดูเหมือนว่าฮ่องกงเก็บภาษีได้น้อยกว่าเรา แต่เมื่อเราเทียบภาษีที่เก็บได้ต่อจีดีพีซึ่งก็คือมูลค่าเศรษฐกิจโดยรวมแล้ว ต้องถือว่าฮ่องกงเก็บภาษีได้มากกว่าประเทศไทยถึงเกือบ 2% ของจีดีพีของประเทศตน
นอกจากนี้หากมีการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลงจาก 30% เหลือ 23% เงินลงทุนจากต่างประเทศจะไหลเข้าประเทศมากขึ้น จริงอยู่ว่า การที่บริษัทแต่ละบริษัทจะลงทุนที่ใดอาจมีปัจจัยหลายปัจจัย ทั้งเสถียรภาพทางการเมือง สาธารณูปโภคพื้นฐาน ลักษณะพื้นฐานของแต่ละประเทศ แต่อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลก็เป็นปัจจัยหลักๆ ที่บริษัทเหล่านี้ต้องคำนึง ซึ่งหากเราปรับอัตราลดอัตราภาษีลง จะทำให้มีการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้บริษัทที่มีจำนวนมากขึ้นและขยายกิจการให้ใหญ่ขึ้น ก็ต้องการแรงงานเพิ่ม ส่งผลให้เกิดอุปสงค์ของแรงงานสูงขึ้น ค่าจ้างจะเพิ่มขึ้นเองด้วยกลไกตลาด โดยไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายกำหนดเรื่องการเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแต่อย่างใด ประชาชนคนเดินถนนทุกคนในประเทศจะได้รับประโยชน์นี้อย่างทั่วถึง ไม่ใช่แค่ภาคธุรกิจเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์จากนโยบายนี้
ในทางกลับกัน หากเราไม่ทำการปรับปรุงแก้ไขในเรื่องนี้ เงินลงทุนที่บริษัทหลายบริษัทอยากจะลงทุนในประเทศไทยอาจจะไหลไปยังประเทศที่มีสภาวะการลงทุนเหมาะแก่การลงทุนเหมือนเช่นประเทศไทยแต่มีอัตราภาษีที่ต่ำกว่า อย่างเช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือแม้กระทั่งเวียดนาม ซึ่งจะทำให้เราเสียประโยชน์ที่ควรจะได้ไปอย่างน่าเสียดาย
อย่างไรก็ตามมาตรการที่ผู้เขียนเห็นว่า พรรคการเมืองต้องกล้าที่จะทำควบคู่ไปกับการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล คือการยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีของบีโอไอ (คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) ซึ่งโดยหลักแล้วจัดตั้งมาเพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น โดยการให้สิทธิพิเศษทางภาษีซึ่งเป็นอัตราภาษีที่ต่ำมาก หรือไม่เสียเลยสำหรับประเภทธุรกิจที่เข้าหลักเกณฑ์ที่บีโอไอต้องการจะส่งเสริม โดยบ่อยครั้งที่ธุรกิจที่บีโอไอเลือกที่จะส่งเสริมนั้นไม่ใช่ธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ มีผลกำไรเหมาะกับประเทศไทย และหลักเกณฑ์ที่บีโอไอกำหนดก็มักจะเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นในทางธุรกิจ เช่น ต้องมีขนาดการลงทุนไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาทขึ้นไป มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 500 ไร่ขึ้นไป พื้นที่ที่ตั้งโรงงานต้องอยู่ในพื้นที่ที่บีโอไอต้องการ หรือใช้เทคโนโลยีที่บีโอไอกำหนด และเป็นประเภทธุรกิจที่บีโอไอมีความเห็นว่าสำคัญต่อประเทศไทย ซึ่งความคิดเห็นเหล่านั้นมักจะเป็นความคิดที่ผิดพลาด ตลาดเท่านั้นที่จะตัดสินใจได้ดีที่สุด ผู้ประกอบการเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุดว่า ลูกค้าต้องการสินค้าประเภทใด และจะต้องผลิตเท่าไร เช่นไร ใช้เงินลงทุนเท่าไร ไม่ใช่บุคคลากรของรัฐไม่กี่คนที่เป็นบอร์ดบีโอไอที่จะมากำหนดว่า ประเทศเราควรผลิตอะไร อย่างไร
สิทธิพิเศษเหล่านี้แทนที่จะเป็นการส่งเสริมการลงทุน กลับกลายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มธุรกิจส่วนน้อยที่บอร์ดบีโอไอมีความเห็นว่า ควรสนับสนุนเท่านั้นและเข้าหลักเกณฑ์ และบ่อยครั้งการสนับสนุนโดยให้สิทธิทางภาษีกับบริษัทเหล่านี้เป็นเพียงการอุ้มอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถจะยืนหยัดแข่งขันในตลาดได้ด้วยตนเองหรือที่เรียกว่าอุตสาหกรรมทารก (Infant industry) ด้วยเงินภาษีที่ประชาชนทั้งประเทศสมควรจะได้รับ
นอกจากนี้ยังทำให้กลุ่มธุรกิจที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากบีโอไอไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาด เนื่องจากต้องแบกรับต้นทุนจากอัตราภาษีที่สูงกว่า หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง การส่งเสริมการลงทุนในประเภทธุรกิจที่บีโอไอส่งเสริม ก็คือกีดกันการลงทุนที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ของบีโอไอนั่นเอง ซึ่งหากมีการลดภาษีนิติบุคคลลง สิทธิพิเศษทางภาษีก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป ทุกบริษัทได้ประโยชน์ทั้งหมด เป็นการส่งเสริมการลงทุนทุกบริษัทอยู่แล้ว บริษัททุกบริษัทจะอยู่ภายใต้กติกาเดียวกัน
การแข่งขันระหว่างธุรกิจจึงจะเป็นการแข่งขันอย่างเสรีที่แท้จริง
แต่นโยบายเหล่านี้จะถูกนำไปปฏิบัติหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับบัตรเลือกตั้ง ที่ท่านผู้อ่านจะกากากบาทในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ ไปใช้สิทธิ์กันเยอะๆ นะครับ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ยังมีนโยบายที่น่าสนใจที่จะส่งผลต่อปากท้องพี่น้องประชาชนอีกมาก
Comments
Post a Comment