สิทธิเสรีภาพ นิติรัฐ รัฐธรรมนูญ ความคิดในกระดาษของสังคมไทย
คริส โปตระนันทน์
น.บ. เกียรตินิยม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทความนี้ได้เผยแพร่
ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 29 เมษายน 2553
ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 29 เมษายน 2553
และใน ทัศนะวิจารณ์ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 4 พฤษภาคม 2553
สถานการณ์ทางการเมืองช่วงนี้กำลังคุกรุ่นขึ้นเรื่อยๆ ความวุ่นวายจึงเกิดขึ้นอย่างมากมายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประเทศไทย
ไม่ว่าจะเป็นกรณีการชุมนุมของคนเสื้อแดง หรือระเบิดเอ็ม 79 ที่ ตกราวกับสายฝนใน กทม.มากกว่า 1 เดือนแล้ว และยังมีความเคลื่อนไหวจากหลายๆ ภาคส่วน ซึ่งรวมไปถึงการเสนอแนวทางออกของวิกฤติการเมืองด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ ผู้เขียนเห็นว่า ถ้าผู้อ่านได้มีความรู้พื้นฐานเหล่านี้อาจจะพิจารณาเหตุการณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้นมากครับ
รัฐธรรมนูญตามความหมายที่คนทั่วไปเข้าใจและตามตำราที่สอนกันมาในมหาวิทยาลัยนั้น หมายความโดยทั่วๆ ไปว่า คือ กฎหมายสูงสุดของประเทศที่ไม่มีกฎหมายใดที่ขัดแย้งได้ โดยมีเนื้อหาที่สำคัญในรัฐนั้นๆ เช่น ระบอบการปกครอง การกำหนดจัดการองค์กรทางรัฐธรรมนูญ อย่างเช่น รัฐสภา รัฐบาล ศาล และการถ่วงดุลอำนาจระหว่างองค์กรต่างๆ เป็นต้น แต่สิ่งสำคัญที่ถือว่าเป็นแกนหลักของรัฐธรรมนูญนั้น กลับถูกเพิกเฉยเป็นอย่างมากจากสังคมไทย กล่าวคือบทในส่วนของสิทธิเสรีภาพ ซึ่งจะเห็นได้ว่า หลายๆ บทไม่มีผลบังคับอย่างแท้จริงในสังคมไทย ตัวอย่างเช่น เรื่องสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาที่ถูกจับกุม ไม่ว่าจะเป็นกรณีการจับกุมผู้ต้องหายาเสพติด มีการจับผู้ต้องหามานั่งให้นักข่าวถ่ายรูปพร้อมของกลาง ราวกับว่าบุคคลเหล่านั้นถูกศาลพิพากษาไปแล้วว่าเป็นคนผิด ทั้งๆ ที่ยังมิได้มีการดำเนินคดีในศาลแต่อย่างใด หรือสิ่งที่เราเห็นชัดในชีวิตประจำวันในเรื่องการกระทำต่างๆ ของตำรวจไม่ว่าจะเป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมายต่างๆ เช่น การจับรถจักรยานยนต์แล้วดึงกุญแจรถของประชาชนไป ซึ่งตัวอย่างเหล่านี้ ผู้เขียนตั้งคำถามได้ว่า เกิดอะไรขึ้นกับประเทศที่มีรัฐธรรมนูญที่บัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพถึง 40 กว่ามาตรา และสิ่งที่น่าเศร้าใจกว่านั้นคือ คนในสังคมไทยที่ทนและยอมอยู่กับการถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพเหล่านี้ทุกๆ วันโดยไม่ได้รู้สึก และไม่ได้มีปฏิกิริยาใดต่อการกระทำดังกล่าวแม้แต่น้อย
คำถามที่ย้อนกลับมาถึงบรรทัดนี้ก็คือ แล้วเราจะสามารถบังคับใช้ให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ ให้สิทธิเสรีภาพได้รับการคุ้มครองอย่างแท้จริง ทุกๆ คนไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือประชาชนอยู่ใต้บังคับของกฎหมาย หรือ กล่าวกันเป็นภาษาวิชาการว่า “นิติรัฐ” จะเกิดขึ้นได้อย่างไร
สิ่งที่เราน่าจะพิจารณาก็คือประวัติศาสตร์ของประเทศที่เป็นนิติรัฐทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ของสหรัฐอเมริกาเพื่อปลดแอกจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ การปฏิวัติฝรั่งเศส และการต่อสู้ของสภาสามัญเพื่อลดอำนาจของสภาขุนนางอังกฤษ ซึ่งหากเราเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ของประเทศเหล่านี้ เราจะเห็นจุดที่แตกต่างกับประเทศไทย กล่าวคือประชาชนของเขาต้องต่อสู้และต้องสูญเสียเพื่อการจำกัดอำนาจผู้ปกครองที่รังแกประชาชนเพื่อให้อำนาจการปกครองเป็นของปวงชนอย่างแท้จริง หลังจากที่เขาได้สิทธิเหล่านั้นมาแล้ว จึงมีการตรารัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานรับรองเท่านั้น สิทธิของเขาได้มาจากการต่อสู้และเรียกร้อง รัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่ต้นกำเนิดแห่งสิทธิ หากเป็นแต่เพียงใบเสร็จยืนยันถึงสิทธิเสรีภาพของพวกเขาเท่านั้น ในทางกลับกันรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและการปกครองระบอบประชาธิปไตยคือสิ่งที่คนไทยได้มาพร้อมกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 ซึ่งเกิดจากการพยายามของกลุ่มปัญญาชนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการเรียกร้องอำนาจทางการเมืองจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จนในที่สุดท่านก็ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชน ถึงแม้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศไม่ได้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพเหล่านั้นเลย การต่อสู้ในครั้งนี้เป็นแต่เพียงการแย่งชิงอำนาจของชนชั้นนำในสังคมไทยเท่านั้น ด้วยเหตุดังกล่าว รัฐธรรมนูญจึงเป็นเพียงเครื่องชิงอำนาจของกลุ่มการเมืองตลอดระยะเวลา 78 ปีที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญของเราจึงเป็นเพียงแค่กระดาษแผ่นหนึ่งที่เขียนเรื่องกฎระเบียบการชิงอำนาจของกลุ่มการเมืองเท่านั้น หรืออาจกล่าวในเชิงวิชาการได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญเชิงรูปแบบเท่านั้น โดยไม่ได้มีความเป็นสัญญาประชาคมแม้แต่น้อย
เพราะเหตุนี้กฎหมายในประเทศไทยจะไม่ได้มีสภาพต่างอะไรกับคำสั่งที่ออกจากกลุ่มคนชั้นนำกลุ่มเล็กๆ เพื่อสั่งให้ประชาชนหันซ้าย หันขวา ไม่ได้ต่างอะไรกับกฎหมายในประเทศเผด็จการ เพราะในเมื่อกฎหมายนั้นไม่ได้เกิดจากคนส่วนใหญ่ในสังคมตกลงกันทำสัญญามอบอำนาจให้รัฐเป็นผู้ปกครองตัวเองแล้ว ประชาชนจึงไม่รู้สึกถึงความสำคัญของกฎหมาย ไม่ได้รู้สึกรักและหวงแหนในกฎหมาย ไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องปฏิบัติตาม รู้สึกแต่เพียงว่ากฎหมายเป็นสิ่งที่น่ากลัวและจะทำให้ชีวิตลำบากเมื่อเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เมื่อผู้ปกครองปกครองด้วยการละเมิดกฎหมาย ประชาชนก็ไม่รู้สึกอะไร เพราะถึงแม้จะปกครองด้วยกฎหมาย ประชาชนก็ไม่ได้มีส่วนร่วมในกฎหมายเหล่านั้นอยู่แล้ว
สิ่งที่เราควรจะทำในตอนนี้เพื่อให้ประเทศพ้นวิกฤติ จึงไม่ใช่การแก้รัฐธรรมนูญ เพราะการแก้รัฐธรรมนูญเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ (หากจะมีผลดีอยู่บ้าง ก็คงจะต้องเป็นการแก้เพื่อให้อำนาจตามรัฐธรรมนูญตรงกับดุลอำนาจในสังคม ซึ่งจะทำให้ระบบการเมืองเดินต่อไปได้เท่านั้น) การแก้รัฐธรรมนูญจึงเป็นแค่การแก้เอกสารแผ่นหนึ่งที่ใช้บังคับกันในหมู่นักการเมืองและข้าราชการเท่านั้น ถึงแม้ประเทศไทยจะแก้รัฐธรรมนูญให้ดีที่สุด เป็นประชาธิปไตยที่สุด มันก็คงเป็นไปไม่ได้ที่สังคมไทยจะกลายเป็นนิติรัฐ สิทธิเสรีภาพของคนไทยจะได้รับการคุ้มครองที่ทุกคนใฝ่ฝัน
สิ่งที่ประเทศไทยขาดอยู่ในตอนนี้จึงไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่ดี แต่เป็นจิตสำนึกในการหวงแหนสิทธิเสรีภาพของตัวเองที่จะทำให้เกิดสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาได้ จากตัวอย่างที่ผู้เขียนยกขึ้นมาข้างต้น ประเทศเหล่านั้นไม่ได้เจริญเป็นนิติรัฐทันทีที่ได้รัฐธรรมนูญ สหรัฐอเมริกาประกาศใช้รัฐธรรมนูญในปี ค.ศ.1787 แต่กว่าจะให้สิทธิในการเลือกตั้งกับคนผิวดำอย่างเป็นทางการก็ในปี 1966 เนื่องจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิพลเมืองของคนผิวดำ (African-American Civil Rights Movement) ในระหว่างปี 1955-1968 ซึ่งจะเห็นได้ว่านิติรัฐจะเกิดได้ต้องเกิดจากการพัฒนาของประวัติศาสตร์การเมืองของแต่ละประเทศ ซึ่งก็จะต้องมีการเรียกร้องสิทธิของประชาชนกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การชุมนุม การเดินขบวน การประท้วง เป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกิดอยู่ในประเทศไทยตอนนี้จึงเป็นเรื่องปกติของการเรียกร้องสิทธิทางการเมืองที่ประชาชนในประเทศที่พัฒนาแล้วล้วนแต่ต้องผ่านมาแล้วทั้งสิ้น
สิ่งที่บทความนี้พยายามจะแสดงให้เห็นก็คือ ประเทศไทยอาจเดินมาถึงจุดที่ประชาชนเริ่มจะเรียนรู้ในสิทธิทางการเมืองของตัวเอง อย่างที่ปรากฏในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การแสดงออกทางการเมืองของทั้งคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดงจึงไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่เป็นสิ่งที่ควรต้องส่งเสริมให้เกิดขึ้นในประเทศไทยเสียด้วยซ้ำ ประชาชนไทยส่วนใหญ่ต้องไม่คิดว่าการแสดงออกทางการเมืองเป็นเรื่องการถ่วงความเจริญของบ้านเมือง เพียงแต่เรายังต้องเรียนรู้วิธีในการใช้สิทธิของพวกเราอย่างถูกต้องและเหมาะสมต่อไป การใช้สิทธิเหมือนประเทศที่เจริญแล้วต่างๆ คงไม่อาจเกิดได้ในช่วงข้ามคืน อย่างไรก็ตามคนไทยต้องเรียนรู้ที่จะใช้สิทธิของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปราศรัยโดยมีท่าทีดูถูกเกลียดชัง ด่าทอ ยั่วยุให้เกิดความรุนแรง หรือแม้แต่การประท้วงที่มีอาวุธในครอบครอง ซึ่งการกระทำเหล่านี้ผู้ใช้สิทธิจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไข เมื่อเกิดความผิดพลาด ความสูญเสียไม่ว่าจะในทางเศรษฐกิจ หรือแม้แต่ชีวิตคน คนไทยจะเรียนรู้และไม่ลืมง่ายอย่างที่ผ่านมา ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าในระยะยาวการชุมนุมทางการเมืองของเราจะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น เราคนไทยจะเรียนรู้การใช้สิทธิของตนที่เหมาะสมได้อย่างแน่นอน
เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นถือเป็นนิมิตหมายอันดีสำหรับประเทศไทยที่อย่างน้อย ประชาชนกลุ่มหนึ่งซึ่งอาจไม่ใช่ทั้งหมดของประเทศ มีการตื่นตัวทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลทักษิณของคนเสื้อเหลือง เนื่องจากเอาเงินภาษีที่คนชั้นกลางเป็นผู้จ่ายเสียส่วนใหญ่ไปทำนโยบายประชานิยม หรือการที่คนเสื้อแดงพยายามจะเรียกร้องสิทธิการเมืองของตนในงบประมาณและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่คนจนและต่างจังหวัดบ้าง ตัวอย่างเหล่านี้จึงอาจจะถือได้ว่าประชาชนเริ่มที่จะเรียนรู้ (Realize) และเริ่มใช้ (Exercise) สิทธิของตนแล้ว ซึ่งหากมองในแง่ดีวิกฤติการเมืองตลอด 5 ปีมานี้อาจไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป หากคนไทยไม่ว่าฝ่ายใดเรียนรู้และหวงแหนสิทธิของตนที่ฝ่ายของตนต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มา หากมีใครมาพรากสิทธิของตนเอง พวกเขาก็คงจะไม่ยอมอยู่เฉยให้ใครมาละเมิดสิทธิของตนอย่างที่เคยเป็นมา เมื่อถึงเวลานั้น รัฐธรรมนูญก็อาจจะเป็นหลักฐานแสดงซึ่งสิทธิเสรีภาพอย่างประเทศต่างๆ ในโลก รัฐธรรมนูญก็จะเปลี่ยนจากกระดาษแผ่นหนึ่งเป็นสัญญาประชาคมอย่างแท้จริงได้ ประเทศไทยอาจจะเป็นนิติรัฐที่สมบูรณ์ ทุกคนเคารพกฎหมาย พร้อมที่จะพัฒนาเพื่อเริ่มก้าวให้ทันโลกอีกครั้ง แม้ว่าประชาธิปไตยจะต้องล้มลุกคลุกคลานบ้างในช่วงนี้ ก็อาจจะต้องยอม
Comments
Post a Comment